เดิมทีการพัฒนาด้านต่างๆถูกกำหนดมาจากศูนย์กลางแล้วใช้กับทุกภูมิภาค ทุกชุมชน ทำให้ไม่ตอบสนองกับความต้องการ ปัญหาจึงถูกแก้ไขอย่างเชื่องช้า ปัจจุบันการพัฒนาเริ่มจะถูกจุดมากยิ่งขึ้น ปัญหาต่างๆเริ่มที่จะได้รับการแก้ไข ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากการรับฟังปัญหา รับฟังข้อเสนอและความคิดเห็นของผู้ประสบปัญหา มีกระบวนการจัดการมากยิ่งขึ้น

 

เสียงกู่จากครูใหญ่ตัวอย่างวิธีการพัฒนาแบบพึ่งตนเอง

องค์ประกอบของการพัฒนาที่ยั่งยืน

เคยมีผู้รู้พูดว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนจะต้องมีการพัฒนา3ด้านหลักคือ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมเองค่อนข้างที่จะเห็นด้วย แต่จะทำอย่างไรล่ะเพื่อให้การพัฒนานั้นเกิดความยั่งยืน ใม่ใช่โครงการหมด ทุกอย่างก็จบไปตามโครงการ การที่โครงการไม่ประสบความสำเร็จเราจะต้องย้อนกลับไปดูที่มาของโครงการว่ามาจากความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย หรือว่ามาจากการนั่งเทียนของผู้เขียนโครงการ มีการจัดทำโครงการตามขั้นตอนหรือกระบวนการหรือไม่ แต่ถ้าทุกอย่างเราทำมาอย่างถูกต้องโครงการตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแก้ไขปัญหาของกลุ่มเป้าหมายได้ แต่ยังล้มเหลวอยู่พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัตถุประสงค์ หลังจากจบโครงการแล้ว เราคงต้องหันมาดูว่าเราขาดอะไรไป องค์ประกอบของการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ที่จริงก็มีการใช้อยู่แล้วแต่ไม่มีการรวบรวมกันอย่างจริงจัง การใช้ก็เพียงหยิบมาใช้ให้เข้ากับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่โดยความจริงเราควรที่จะนำมาใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบถาวร องค์ประกอบที่จะทำให้การพัฒนาเกิดความยั่งยืนนั้นไม่ได้มีด้านใดด้านหนึ่ง เราควรนำมาใช้ทุกด้าน ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของโครงการทุกโครงการที่ต้องการให้กลุ่มเป้าหมายมีคุณภาพชีวีตที่ดีขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

องค์ประกอบที่1 การให้ต่อหรือการส่งต่อ หมายถึงคนคนหนึ่งเมื่อได้รับสิ่งของจากคนคนหนึ่งและได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นในช่วงเวลาหนึ่งแก้ไขปัญหาได้เขาจึงส่งมอบสิ่งของนั้นให้กับคนใหม่ที่มีปัญหาและความต้องการเหมือนกัน องค์ประกอบนี้เกี่ยวข้องกับคน3คน คือคนให้ครั้งแรก คนรับ และคนที่จะรับต่อ เมื่อถึงเวลาหนึ่ง  คนรับจะเป็นคนส่งต่อคนที่จะรับต่อก็จะกลายเป็นคนรับและจะมีคนที่จะรับต่อไป หลายโครงการใช้วิธีนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อไม่ให้สิ่งของหมดไปและยังเป็นการขยายให้เกิดสิ่งของและผู้ได้รับแก้ไขปัญหาเพิ่มมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงและสิ่งของ แต่แท้จริงแล้วการส่งต่อนี้เราสามารถทำกับเรื่องอื่นๆอีกหลายเรื่อง เช่นการส่งต่อความรู้ การส่งต่อโอกาส ตัวอย่างของการส่งต่อความรู้เช่น นาย ก.ได้รับการอบรมการปลูกข้าวโพดจากหน่วยงานแห่งหนึ่ง เมื่อนายก.ทำการปลูกข้าวโพดตามวิธีการที่ได้อบรมมาแล้วได้ผลดี นายก.จึงทำการเปิดการอบรมวิธีการปลูกข้าวโพดตามที่ได้รับการอบรมมาใหกับเพื่อนบ้านที่มีอาชีพปลูกข้าวโพด การส่งต่อถ้ามีการทำอย่างต่อเนื่องจะกลายเป็นวัฒนธรรม หรือประเพณี เช่น ลูกสาวทอผ้าเป็นเพราะแม่สอน แม่ทอผ้าเป็นเพราะยายสอน ยายทอผ้าเป็นเพราะแม่ของยายสอน เป็นต้น การส่งต่อส่วนใหญ่แล้วจะมีพันธสัญญาผูกพันกันระหว่างผู้ให้หรือผู้ส่ง กับผู้รับ ถ้ามีการผิดสัญญาจะทำให้วงจรของการส่งต่อหยุดชงัก การพัฒนาก็จะไม่ยั่งยืน การส่งต่ออาจจะหยุดได้ก็ต่อเมื่อปัญหาได้รับการแก้ไข หรือไม่มีผู้ที่แสดงตนเป็นผู้รับ 

องค์ประกอบที่2 การแบ่งปัน หมายถึงเรามีของอยู่ของนั้นเป็นของเราเองไม่ได้รับมาจากใครแล้วเราแบ่งปันให้กับคนอื่นที่เขาต้องการโดยไม่มีข้อแม้หรือพันธสัญญาใดๆ องค์ประกอบนี้จะเกี่ยวข้องกับคน2คน คือผู้แบ่งปันกับผู้รับ นักพัฒนาหลายคนไม่เข้าใจข้อแตกต่างระหว่างการส่งต่อกับการแบ่งปันบางครั้งเหมารวมเป็นเรื่องเดียวกัน การส่งต่อนั้นจะมีข้อกำหนดหรือพันธสัญญาที่จะต้องปฏิบัติ แต่การแบ่งปันไม่มีข้อกำหนดแสดงให้เห็นว่าการแบ่งปันเป็นการพัฒนาทางด้านจิตใจมาระดับหนึ่งแล้ว กลุ่มเป้าหมายมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การแบ่งปันไม่ใช่จะทำได้เฉพาะสิ่งของเท่านั้นเราสามารถแบ่งปันความรู้ แบ่งปันโอกาส ก็สามารถทำได้ ตัวอย่าง นายก.คิดค้นวิธีการทำให้ข้าวโพดออกฝักได้ฝักใหญ่ จึงเอาวิธีนี้มาสอนให้กับชาวบ้านที่ปลูกข้าวโพดเหมือนกัน หรือวันนี้นางข.จะขับรถไปประชุมในอำเภอบนรถยังมีที่ว่างอยู่ จึงชวนนางค.นั่งไปซื้อของในตลาดด้วย ในสังคมไทยแต่เดิมคนในชุมชนมีการไปมาหาสู่สังคมมีควมสงบการแบ่งปันมีให้เห็นอยู่โดยทั่วไป แต่ในปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจบีบรัดทำให้ความสัมพันธ์เริ่มน้อยลง ภาพของการแบ่งปันจึงค่อยๆสูญหาย การเห็นแก่ตัวมาแทนที่ดังนั้นการที่จะพัฒนาให้คนกลับมารู้จักการแบ่งปันจะต้องใช้องค์ประกอบด้านอื่นเข้ามาช่วยด้วย

องค์ประกอบที่3 การรู้เท่าทันและการวางแผนทางเศรษฐกิจ หมายถึง การรู้ถึงฐานะทางด้านเศรษฐกิจในครอบครัว รายรับ รายจ่าย และต้องมีการวางแผนกิจกรรมการใช้จ่ายและการสร้างรายได้ การที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น ในระบบทุนนิยมเรื่องของเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญมาก การที่จะรู้สถานการณ์ทางการเศรษฐกิจจะต้องมีการจัดทำบัญชีครัวเรือน และต้องมีการออมเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวหรือกลุ่ม ข้อมูลทางเศรษฐกิจอาจรวมถึงทรัพย์สินที่มี ทั้งสัตว์และสิ่งของ เราสามารถนำข้อมูลนี้มาเป็นข้อมูลในการวางแผนการใช้จ่ายหรือทำกิจกรรมอื่นๆต่อไปได้

   

*ยังมีต่อ

  "พะตีตีนดอย"

พึ่งตนเองแบบ50/50
....ปีที่แล้วผมมีโอกาสได้ไปพูดคุยกับชาวบ้าน บนดอยแถวๆดอยอินทนนท์ ชาวบ้านที่นี่ตื่นตัวกับการพึ่งตนเองมาก หน่วยงานต่างๆก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านรู้จักการดำเนินชีวิตแบบหลักเศรษฐกิจพอเพียง การพึ่งตนเอง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ลดรายจ่าย เตรียมพร้อมสู้ชีวิตในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ได้คุยกับพี่สาวคนหนึ่ง แกเล่าว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่มาสอนนั้นดีมาก ชาวบ้านโดยเฉพาะตัวแกเองลดรายจ่ายไปเยอะ ผมสนใจมากเลยถามต่อว่าที่นี่ทำอะไรกัน พี่สาวคนนั้นตอบด้วยความภูมิใจว่า เราทำน้ำยาล้างจานกันใช้กันทุกบ้าน คุณภาพดีกว่าซื้ออีกราคาคิดต้นทุนแล้วถูกกว่าซื้อมาก ผมยิ้มรับด้วยความพอใจ ยินดีด้วยกับหน่วยงานที่เข้ามาส่งเสริม ผมถามต่อ ตอนนี้เรายังทำใช้กันอีกหรือเปล่า ทุกคนยิ้ม พี่สาวคนเดิมยิ้มแบบอายๆว่า ไม่ได้ทำมาหลายเดือนแล้วเพราะว่าน้ำยาN-70ที่ใช้ทำหมดยังไม่ได้ไปซื้อ ก็ไม่รู้จะซื้อที่ไหน ที่จริงอยากทำใช้ต่อ ถามคนที่มาสอนเขาก็ไม่รู้ว่าซื้อที่ไหน เพราะหน่วยงานของเขาเป็นผู้ซื้อให้ รู้เพียงแต่ว่าซื้อจากในตัวเมืองเชียงใหม่ ... ผมฟังแล้วก็ได้แต่ยิ้มแบบฝืนๆ
....ขับมอเตอร์ไซด์ลงจากดอยเพื่อกลับบ้านในสมองก็อดคิดไม่ได้ว่า จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านพึ่งตนเองได้เต็มร้อยซะที ก็ไม่คิดตำหนิเจ้าหน้าที่ ที่เข้ามาส่งเสริมเขาอาจจะมีความหวังดีที่อยากให้ชาวบ้านได้ลดรายจ่ายแต่ลืมคิดไปว่าสิ่งที่ทำนั้นอาจกลายเป็นดาบสองคม ที่อาจจะทำให้การพัฒนายากขึ้นไปกว่าเดิมเพราะกลุ่มเป้าหมายขาดความเชื่อถือ
 
 
 
.... นักพัฒนาที่ดีนั้น ก่อนที่เราจะเข้าทำงานหรือดำเนินกิจกรรมที่ใดๆจะต้องมีการศึกษาข้อมูลของกลุ่มเป้าหมาย การวิเคราะห์ความเป็นไปได้และความยั่งยืนของกิจกรรม รวมทั้งการต่อยอด และรู้จักการประยุกต์สิ่งที่ชาวบ้านมีเช่นองค์ความรู้ เข้ากับกิจกรรมที่จะทำ
....แต่เดิมชาวบ้านที่นี่ใช้ขี้เถ้าล้างจาน ใช้ ปะคำดีควายหรือ "ซะเหล่เด"ในการซักผ้า,สระผม หรืใช้เถาวัลย์ ที่ชื่อ "โป่วชอครึ" มาซักผ้าหรือสระผมฟอกตัวรักษาโรคผิวหนังได้ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดฟองทั้งสิ้น ถ้าเรานำภูมิปัญญาเหล่านี้ของชาวบ้าน มาผสมกับความรู้ที่มี เช่นเอาน้ำขี้เถ้าผสมกับน้ำปะคำดีควาย ผสมกับน้ำมันพืช เราก็จะได้สบู่ เอาไว้ล้างจานก็ได้ อาบน้ำก็ได้ หรืออยากให้เห็นผลเร็วก็เอา น้ำสมุนไพรที่ว่ามาทั้งหมด ผสมกับโซดาไฟ แล้วผสมกับน้ำมันพืช เราก็จะได้สบู่ ทิ้งไว้15วันให้หมดฤทธิ์โซดาไฟ แล้วนำไปใช้ได้ ทั้งฟอกตัวเอง ซักผ้า หรือล้างจาน โซดาไฟหาซื้อได้ตามร้านก่อสร้างทั่วไปซึ่งก็หาซื้อได้ง่ายกว่าน้ำยาN-70ที่เอามาทำน้ำยาล้างจาน
   นี่ก็เป็นเพียงตัวอย่างที่นักพัฒนาทั้งหลายจะต้องคิดเผื่อทุกแง่ทุกมุม อย่างหลายคนบอกว่าคิดหลายมิติ ซึ่งผมไม่ชอบคำแบบนี้เลยเพราะพูดแล้วชาวบ้านงง.....
 
 
 
 
"พะตีตีนดอย"